บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด สโมสรฟุตบอลในไทยลีกที่เป็นทีมที่ชาวบุรีรัมย์ภาคภูมิใจและสนับสนุนอย่างล้นหลาม ทีมที่เป็นต้นแบบของการสร้างสโมสรฟุตบอลอาชีพในรูปแบบทีมประจำจังหวัด ทีมที่สร้างรังเหย้าขึ้นมาจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวประจำจังหวัด ทีมที่สร้างสโมสรฟุตบอลพร้อมทั้งการกระจายรายได้สู่ชาวบ้านในท้องถิ่น พวกเขามีที่มาอย่างไร วันนี้มาลองติดตามไปพร้อม ๆ กัน
1.การก่อตั้งสโมสร
สโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ก่อกำเนิดขึ้นมาจากสโมสรฟุตบอลการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2513 โดย เริ่มต้นจากการเข้าร่วมการแข่งขันในฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานถ้วย ง และไต่เต้าขึ้นมาจนถึงระดับไทยลีก จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2551 ทีมการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสร้างประวัติศาสตร์จากการคว้าแชมป์ไทยลีกได้สำเร็จ ก่อนที่ฤดูกาลต่อมาทีมจะทำผลงานได้ไม่ดีนักจนจบอันดับที่ 9 ซึ่งขณะนั้นฟุตบอลไทยกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นลีกอาชีพอย่างแท้จริง คุณเนวิน ชิดชอบผู้บิ่งใหญ่แห่งบุรีรัมย์ซึ่งหลงไหลในฟุตบอลจึงติดต่อขอซื้อกิจการสโมสรการไฟฟ้าและเปลี่ยนชื่อทีมเป็นบุรีรัมย์พีอีเอ และย้ายสนามเหย้าจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยามายังจังหวัดบุรีรัมย์ซึ่งก็ทำให้ทีมเริ่มสร้างฐานแฟนบอลในจังหวัดบุรีรัมย์ขึ้นมาเป็นอย่างมาก
2.การเปลี่ยนโครงสร้างทีมสู่การเป็นทีมตัวแทนของชาวบุรีรัมย์อย่างแท้จริง
ในฤดูกาล 2554 ทีมบุรีรัมย์-พีอีเอได้เป็นแชมป์ไทยแลนด์พรีเมียร์ลีกได้อย่างที่ตั้งใจ แต่มีความพยายามที่จะดึงความเป็นทีมการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกลับคืนมา ผู้บริหารฝั่งบุรีรัมย์จึงทำการขายหุ้นทั้งหมด 70% กลับคือให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและย้ายนักเตะในสังกัดไปรวมกับทีมบุรีรัมย์ เอฟซี ที่ได้เลื่อนชั้นสู่ไทยลีกในฤดูกาลถัดมากลายเป็นทีม บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ตัวแทนของชาวบุรีรัมย์ ที่พวกเขาเรียกตัวเองว่า แฟนบอลเซาะกราว มาจนถึงทุกวันนี้
3.รังเหย้าแห่งความภาคภูมิใจ
บุรีรัมย์ ยูไนเต็ดเริ่มต้นใช้รังเหย้าคือสนามเขากระโดง สเตเดียม โดยมีความจุทั้งหมด 15,000 ที่นั่ง สนามนี้เคยเป็นสนามขององค์การบริหารส่วนจังหวัด และถูกปรับปรุงใหม่ทั้งหมดเพื่อใช้รองรับการใช้งานไทยแลนด์พรีเมียร์ ก่อนที่สโมสรจะสร้าง สนามแห่งใหม่ของตัวเองซึ่งมีความจุ 32,600 คน คือสนาม นิว ไอ-โมบาย สเตเดี้ยม ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นช้างอารีนา หรือชื่อที่ใช้ในการแข่งขันระดับทวีปว่า บุรีรัมย์ สเตเดียม ปัจจุบันสนามแห่งนี้มีความจุ 35,000 ที่นั่ง สร้างด้วยงบประมาณกว่า 500 ล้านบาท จัดเป็นสนามฟุตบอลที่ได้มาตรฐานแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่ไม่มีลู่วิ่งคั่นสนามและผ่านมาตรฐานฟีฟ่า, เอเอฟซี และเอเอฟเอฟ และยังผ่านมาตรฐานระดับเอคลาสสเตเดียมจากเอเอฟซี รวมทั้งผ่านมาตรฐานระดับเวิลด์คลาสจากฟีฟ่า และยังได้บันทึกลงกินเนสบุค ว่าเป็นสนามฟุตบอลในระดับฟีฟ่าที่ใช้เวลาก่อสร้างน้อยที่สุดในโลกคือ 256 วัน
ปัจจุบันบุรีรัมย์ ยูไนเต็ดยังคงเดินหน้าสร้างความสำเร็จต่อไปภายใต้การนำพาของประธานสโมสรผู้เอาจริงเอาจังกับทีม และเหล่าบรรดานักเตะที่ล้วนแต่มีพละกำลังวิ่งสู้ฟัดได้ตลอดทั้งเกมเป็นเอกลักษณ์ของพวกเขา พร้อมทั้งผู้เล่นหมายเลข 12 ที่พร้อมยืนหยัดเคียงข้างทีมปราสาทสายฟ้า บุรีรัมย์ ยูไนเต็ดอย่างไม่เสื่อมคลาย